จริยธรรม(ของบริษัท)กับการเลือกหุ้นลงทุน

หากใครที่อ่านหนังสือการลงทุนแนว VI บ่อยๆ จะสังเกตได้ว่า หัวข้อหนึ่งที่เราต้องพิจารณาในขั้นตอนเลือกหุ้นและประเมินมูลค่าคือ จริยธรรมของผู้บริหารและบริษัท

จริยธรรมเป็นเรื่องที่วัดและดูยากกว่ามูลค่าแท้จริงมากๆครับ เพราะมันเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ ประเมินออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ ไม่มีในงบการเงิน แต่เป็นสิ่งสำคัญที่หากเราพลาดก็อาจนำมาซึ่งหายนะได้เลย
การซื้อหุ้นก็เหมือนการที่เราซื้อสิทธิ์เข้าไปเป็นหุ้นส่วนของบริษัทนั้นๆ(ในสัดส่วนตามจำนวนหุ้นที่เราถือ) เปรียบเหมือนเราเอาเงินเข้าไปลงทุนในกิจการนั้นๆ มันคงไม่ดีแน่ถ้าบริษัทที่เราเห็นคุณค่าและตัดสินใจร่วมลงทุน กลับคิดคดโกงผู้ถือหุ้น

โดยปกติผมแบ่งจริยธรรมออกเป็น 3 หัวข้อคือ

  1. จริยธรรมต่อผู้ถือหุ้น
  2. จริยธรรมต่อลูกค้า
  3. จริยธรรมต่อพนักงานและลูกจ้าง
ผู้ถือหุ้น
บริษัทที่ดีเมื่อมีกำไรและไม่มีแผนการลงทุนต่อควรมีการปันผลเป็นเงินสดคืนผู้ถือหุ้น หรือหากบริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มเติม ก็ต้องเป็นการลงทุนที่บริษัทมี knowledge มีความพร้อม และมีอนาคต
ในหลายๆครั้ง บริษัทอาจเก็บเงินไว้เพื่อเตรียม Take over บริษัทอื่น ซึ่งหากจริง เราก็ต้องดูด้วยนะครับว่าไป Take อะไรเข้ามา และบริษัทมีศักยภาพพอที่จะต่อยอดให้มันไปรอดหรือเปล่า

นอกจากนี้ เรื่องค่าตอบแทนผู้บริหารก็เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจนะครับ ในบางเคสที่ผู้บริหารอาจพยายามยักยอกเงินบริษัท ผ่านการขึ้นเงินเดือนตัวเองและพวกพ้องแบบไม่มีเหตุผล หรือซื้อทรัพย์สินอะไรบางอย่างสูงมากเกินผลงาน สิ่งเหล่านี้ก็บ่งบอกถึงความไม่โปร่งใสของบริษัทได้เช่นกัน

ในส่วนนี้สามารถดูได้จากงบการเงินและรายงานประจำปีเลยครับ

ลูกค้า
จะมีอะไรสำคัญไปกว่าการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า  ผู้ซึ่งเป็นคนจ่ายเงินให้บริษัทเพื่อสินค้าหรือบริการ การคิดคดกับลูกค้าในมุมมองผมนี่มันฆ่าตัวตายชัดๆ บริษัทที่มองลูกค้าเป็นแค่เครื่องผลิตเงิน ไม่ใส่ใจลูกค้า มองลูกค้าเป็นศัตรู หรือมองว่าลูกค้าโง่ ผมนับว่าเป็นการผิดจริยธรรมในการประกอบธุรกิจอย่างร้ายแรง

สิ่งเหล่านี้ต้องสังเกตจากการออก Product ใหม่และแผนการตลาดของบริษัท รวมถึง Customer Support 
ปัญหาด้านนี้ มักจะรุนแรงมากจนเป็นกระแสได้ง่ายๆ เช็คได้จากอินเทอร์เน็ตเลยครับ เพราะอะไรก็ตามที่ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ลูกค้ามักจะเอามากระจายเป็น viral ในอินเทอร์เน็ตเสมอ บริษัทที่ดีจะมีการแจ้งให้สังคมรู้ว่า บริษัทรับรู้แล้วและจะติดตามแก้ไขปัญหา
แม้ว่าบางครั้งจะเป็นปัญหาที่เกิดจากลูกค้าเองหรือเป็นพวกพยายาม discredit บริษัท แต่การแสดงให้คนอื่นๆทราบว่าบริษัทรับรู้ถึงปัญหา ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังแคร์ลูกค้าอยู่ ซึ่งมันดีกว่าการเงียบและโต้ตอบทางกฎหมายมากๆ

บริษัทที่มองว่าลูกค้าโง่ มักจะออกผลิตภัณฑ์ห่วยๆแล้วเอาการตลาดเชียร์แบบตอแหลลืมโลกว่ามันเป็นของดี ดูถูกสติปัญญาลูกค้าเป็นอย่างมาก

ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุดครับ สิ่งเหล่านี้สังเกตได้จากพฤติกรรมและกระแสสังคม(ดราม่า)

พนักงาน
มันคงเป็นเรื่องแปลกมากถ้าบริษัทที่บอกว่าตัวเองเป็นบริษัทที่ดี กลับมีลูกจ้างที่อยู่ไม่ทนเอาซะเลย พนักงานและลูกจ้างทุกคน ย่อมอยากทำงานในบริษัทดีๆที่ดูแลพนักงานผู้ซึ่งเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนบริษัท โดยปกติแล้วหากบริษัทดีจริงๆ พนักงานห็ไม่ควรย้ายงานบ่อยๆจริงไหมครับ

บริษัทที่พยายามเอาเปรียบพนักงานไม่ว่าทางใด มันไม่ต่างจากการทำร้ายตัวเองเท่าไร การจ้างพนักงานใหม่มีค่าใช้จ่ายสูงในระดับหนึ่งนะครับ ทั้งเรื่องการทดลองงาน ฝึกทักษะ สอนงานให้พนักงานใหม่นั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกสิ่งที่ว่ามาล้วนเป็นค่าใช้จ่ายบริษัททั้งสิ้น
การที่บริษัทต้องเทรนพนักงานใหม่บ่อยมากๆ ไม่ใช่เรื่องดีแน่

เรื่องของพนักงาน บางครั้งมันไม่ได้ส่งผลต่อกำไรมากมายนัก แต่เราคงรู้สึกไม่ดีแน่ๆถ้ากำไรที่บริษัทได้ ส่วนหนึ่งมาจากการกดขี่และเอาเปรียบพนักงานตัวเอง

Comments

Popular posts from this blog

การลืมตระหนักถึง "ความเสี่ยง"

โปรเจคจบกับโอกาสเติบโตสู่ Fintech Startup

ยุคสมัยแห่ง Robot