ปริญญาโทวันแรก กับคำถามที่ไม่ควรเกิดในเวลานี้

มันคงเป็นเรื่องปกติกับความรู้สึกเกร็งๆเวลาเราเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เริ่มเรียนที่ใหม่ ทำงานที่ใหม่ ย้ายบ้านใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทหลักสูตรนานาชาติของผม จากสังคมปริญญาตรีที่ตารางเรียนแทบจะเหมือนเพื่อน อยู่กับเพื่อนที่เป็นคนไทย ก้าวไปสู่สังคมที่ครึ่งคลาสเป็นคนจากหลากหลายชาติ แถมตารางเรียนผมซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรเรียนควบ 4+1 เพียงคนเดียวในห้อง

ดันเรียนไม่เท่าเพื่อนในคลาส

เท่านั้นไม่พอ เพื่อนต่างชาติบางคนคุยกันเหมือนจะรู้จักกันมาก่อนเป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง ประกอบกับสำเนียงภาษาอังกฤษที่ผมไม่เคยได้ยิน ไม่คุ้นเคย กลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงด้านการสื่อสารในวันแรก ทั้งหมดกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลที่ทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูก isolated ออกมา

ผมไม่ใช่คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีนัก แต่ก็ไม่ได้แย่ เท่าที่ใช้มาก็สื่อสารได้รู้เรื่อง และจากการสอบ TOEIC ที่ได้คะแนนมา 855 ในการสอบครั้งแรกที่ไม่ได้เตรียมตัว ก็บ่งบอกว่าด้านอ่านและฟังผมก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร

แต่ผมเปิดตัวด้วยการไม่เข้าใจสิ่งที่เพื่อนชาวยูกันดาพูด

เข้าใจซึ้งถึงความหมายของคำว่า Shit just got real เลยทีเดียว
ผมจำไม่ได้ว่าพูดอะไรต่อไปจากนั้น แต่ไม่น่าจะเกี่ยวกับคำถามที่เขาถาม (ซึ่งไม่รู้ด้วยว่าถามอะไร) มันเบลอไปหมด กูทำอะไรลงป๊ายยยยยยยย!!!! T^T

ด้วยความสามารถอันห่วยแตกเกินจินตนาการในการเข้าสังคมใหม่ๆของตัวเอง บวกกับทุกสิ่งที่เกิดในวันนั้น เริ่มทำให้เกิดคำถามที่ว่า "กูคิดผิดหรือเปล่าที่เลือกมาเรียนที่นี่" ซึ่งต้นเหตุแห่งคำถามผมเชื่อว่ามาจากแรงกดดันทางสังคมรอบตัวที่ผมเชื่อว่าทุกคนไม่ตั้งใจแต่ผมรู้สึกขึ้นมาเอง

เรื่องเรียนกลับไม่ใช่ปัญหาของผม ถึงผมจะสนใจ MBA มากกว่า Logistics ที่เรียนอยู่ แต่ด้วยเนื้อหาที่ผมยังตามทันเลยเชื่อว่าผมสู้ต่อได้

เหมือนผมจะเกิดอาการกลัวการเป็นบุคคลถูกลืม ทั้งๆที่ไม่เคยเป็นเลยในช่วงปริญญาตรี ซึ่งผมคงทำไรไม่ได้นอกจากสู้และเรียนรู้มันต่อไป

ปล. วันแรกได้นั่งอยู่ข้างผู้หญิงคนนึง เธอมาจากเมียนม่า เข้าใจว่าเธอทำงานแล้วมาเรียนต่อและดูเป็นคนเข้าสังคมเก่ง เธอชวนผมคุยบ้างเป็นระยะๆ ซึ่งผมไม่ค่อยมีปัญหากับสำเนียงของเธอ การที่เธอชวนคุยกลับกลายเป็นเรื่องที่ลดแรงตึงเครียดในใจผมได้เยอะเลยทีเดียว (อย่างน้อยกูก็คุยรู้เรื่องแหละวะ)

Comments

Popular posts from this blog

มารู้จักกับ Student Syndrome และผลกระทบของมัน

เงินกับความสุข