การตัดสินใจที่ยากที่สุด

การจะลงทุนอะไรซักอย่าง การตัดสินใจหลักๆผมว่าคงไม่พ้น "ตัดสินใจซื้อ" กับ "ตัดสินใจขาย"
ซื้อหรือไม่ซื้อ ขายหรือไม่ขาย หลักๆไม่ว่าจะมือใหม่ มือโปร สายเทคนิค สายคุณค่า มันก็วนๆอยู่แค่นี้แหละ (ผมมองการตัดใจถือคือการ "ไม่ขาย" นะครับ)

การตัดสินใจที่ยากที่สุด หลายคนอาจมองว่าคือ "การซื้อ" บ้างก็ว่าเพราะต้องดูพื้นฐานเยอะแยะไปหมด บ้างก็ว่าต้องรอสัญญาณทางเทคนิค บ้างก็ว่าเพราะความกลัวดอยของตัวนักลงทุนเอง แต่ผมกลับมองว่า "การซื้อ" ไม่ยากเท่า "การขาย"

การซื้อเราใช้ข้อมูลที่ผ่านมาแล้วเป็นหลักในการประเมิน ทั้งเรื่องมูลค่าบริษัท งบการเงิน สัญญาณทางเทคนิค บทวิเคราะห์จากโบรคเกอร์(ซึ่งก็ต้องวิเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแล้วประเมินต่อไปในอนาคต)


เราใช้อดีตเป็นข้อมูลส่วนใหญ่ในการตัดสินใจซื้อ


แล้วการขายล่ะ โดยส่วนมากแล้วเรามักจะขายหุ้นทิ้งกันแบบไม่ค่อยมีเหตุมีผล แต่ผมว่าการขายทิ้งส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากความกังวลเกี่ยวกับอนาคต

  • กลัวดอย
  • กลัวบริษัทเจ๊ง
  • คาดการณ์ว่ากำไรจะลดลง
  • กลัววิกฤติเศรษฐกิจ
  • กลัวความผันผวนของหุ้น
  • เปลี่ยนไปถือสินทรัพย์อื่นๆ
อะไรประมาณนี้

สิ่งที่แปลกคือ เรามักจะพยายามหาเหตุผลสารพัดอย่างเพื่อมาสนับสนุนการที่เราจะตัดสินใจขาย เหตุผลเหล่านั้นบางทีดูเผินๆก็มีเหตุมีผลแม้ว่าถ้ามองจริงๆมันจะไร้สาระขนาดไหนก็ตาม

ผมว่าการตัดสินใจขายอย่างเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ มันทำได้ยากกว่าตอนซื้อมากๆเพราะมันมีความกลัวคอยกดดันอยู่ ความกลัวที่อยู่ในจิตใจพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้เราขายหุ้นทิ้งไป 

การจะกดขาย ผมมักรู้สึกเหมือนมีสงครามอยู่ภายในจิตใจ ทั้งความกลัวที่พยายามจะครอบงำการตัดสินใจ กับการวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผลแท้จริงในการกดขาย บางครั้งผมก็รู้สึกว่าอยากจะกดขายทิ้งเอาไปลงตัวอื่น แต่อีกด้านก็วิเคราะห์ว่า พื้นฐานมันยังไม่ได้แย่ลงถาวร แต่มันแย่ลงเพราะตลาดและสภาพเศรษฐกิจ


ผมก็ไม่รู้นะว่าด้านไหนถูก แต่มันคงเป็นสงครามยืดเยื้อในจิตใจต่อไปอีกซักพักล่ะนะ

Comments

Popular posts from this blog

การลืมตระหนักถึง "ความเสี่ยง"

โปรเจคจบกับโอกาสเติบโตสู่ Fintech Startup

ยุคสมัยแห่ง Robot